สอนลูกเรื่องปรากฏการณ์ธรรมชาติ (Natural Phenomena)
ผู้เขียน: อาจารย์ นิติธร ปิลวาสน์ ศึกษานิเทศก์ระดับ: ก่อนอนุบาล อนุบาลหมวด: เกี่ยวกับอนุบาล
ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ (Natural phenomena) หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มนุษย์ไม่ได้เป็นผู้สร้างขึ้น แต่มีผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์โดยตรง เช่น ฝนตก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า รุ้งกินน้ำ กลางวัน กลางคืน ภาวะโลกร้อน รวมไปถึงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติบางอย่างที่นานๆครั้งจะปรากฎให้เห็น เช่น สุริยุปราคา จันทรุปราคา ฝนดาวตก การเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ ปรากฏการณ์ธรรมชาติเป็นเรื่องหนึ่งที่เด็กควรเรียนรู้ในสาระธรรมชาติรอบตัว ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 เพื่อฝึกทักษะการคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยผ่านกิจกรรมการทดลอง การปฏิบัติจริงจากสถานการณ์จริง หรือสถานการณ์ที่สร้างขึ้นทั้งภายในห้องเรียน และขณะอยู่กับพ่อแม่ที่บ้าน
ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ (Natural phenomena) มีผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน เช่น การเกิดภาวะโลกร้อน วิกฤติการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2554 ซึ่งสภาวการณ์ดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการกระทำของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อมและทำให้เกิดภาวะนั้นๆ เช่น มนุษย์ทำลายธรรมชาติ ตัดไม้ทำลายป่า แหล่งน้ำ บุกรุกผืนป่า ทำให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล และเมื่อมีปริมาณฝนมากส่งผลให้เกิดภาวะน้ำท่วม เนื่องจากขาดต้นไม้ที่จะดูดซับหรือกักเก็บน้ำ อีกทั้งการเกิดภาวะโลกร้อนในปัจจุบันที่ยังคงทวีความรุนแรงมากขึ้น ลักษณะดังกล่าวนี้เกิดจากความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและยานยนต์เครื่องจักรกลต่างๆที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้ได้ใช้เป็นเครื่องทุ่นแรงและอำนวยความสะดวก เช่น รถยนต์ รถบรรทุก รถไถนา เครื่องจักรกลที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเครื่องจักรกลต่างๆเหล่านี้ต้องใช้พลังงานจากน้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เรื่องราวอันเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นนี้มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนในปัจจุบันที่มีความรุนแรงยิ่งขึ้น ไม่เฉพาะแต่บุคคลทั่วไป แต่ยังกระทบต่อเด็กและเยาวชนของชาติที่เป็นทรัพยากรสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป ดังนั้นการปลูกฝังหรือเสริมสร้างลักษณะนิสัยที่พึงประสงค์ให้กับเด็กในช่วงปฐมวัยจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ที่จะทำให้เด็กได้ตระหนักถึงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติในทางลบที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์เป็นเบื้องต้น การที่เด็กได้เรียนรู้สาเหตุของการเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ย่อมทำให้เด็กมีลักษณะนิสัยที่รู้จักการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และสามารถดำรงชีวิตแบบพึ่งพาซึ่งกันและกันได้ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลในอนาคต ซึ่งเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติรอบตัวเป็นสาระที่เด็กควรเรียนรู้เกี่ยว กับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่แวดล้อมเด็กตามธรรมชาติ เช่น ฤดูกาล กลางวัน กลางคืน เป็นต้น สาระที่ควรเพื่อเตรียมความพร้อมทางด้านวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กปฐมวัย เป็นการส่งเสริมให้เด็กสนใจเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว เป็นความคิดรวบยอดทางกายภาพ เด็กจะได้ใช้ทักษะการสังเกต การตั้งคำถาม และการหาคำตอบ ช่วยให้เด็กได้ฝึกฝนทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในลำดับขั้นสูงต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น